วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความตื่นเต้นได้ก่อตัวขึ้นเมื่อรู้ข่าวว่าสโมสรลิเวอร์พูลกำลังจะเปิดตัวเสื้อฟุตบอลเหย้าสำหรับฤดูกาล 2013-14 เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเสื้อเหย้าตัวที่สองของแบรนด์ ‘วอร์ริเออร์’ (Warrior) พร้อมทั้งลุ้นว่าจะออกมาเป็นเช่นไร
newkit
เพราะจากที่สโมสรเคยออกเสื้อเหย้าแบบปีเว้นปี กลับมาเป็นออกทุกปี ซึ่งทำให้ความคาดหวังยิ่งมีมากขึ้น ว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา วอร์ริเออร์ได้เรียนรู้อะไรจากโลกฟุตบอลบ้าง รวมทั้งเสื้อเหย้าตัวใหม่จะถูกออกแบบมาอย่างไร เพื่อตอบสนองความรู้สึกของแฟนบอลที่ต้องซื้อบ่อยขึ้น
โดยส่วนตัว ผมชอบเสื้อเหย้าปีที่แล้วมากในด้านคอนเซ็บต์ของการออกแบบ และการเลือกชนิดของผ้าที่ดูดึงดูด รวมทั้งการแฝงความใส่ใจในสภาพแวดล้อมตามเทรนด์แบบ s’café แม้ว่ารายละเอียดในการตัดเย็บและเทคโนโลยีจะต่างจากเจ้าตลาดอย่าง อดิดาสหรือไนกี้ แต่เมื่อดูในภาพรวม ถือว่าสู้ได้ เพราะการตีความหมายของประวัติศาสตร์ให้ออกมา ‘ดูใหม่ ใส่สวย และภาคภูมิใจ’ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการออกแบบ ทำให้ตามปกติที่จะรอซื้อตอนลดราคา ถึงขั้นเงินหลุดได้ เพราะรู้สึกว่าสวยน่าใส่เป็นที่สุด

แนวคิดเบื้องต้น สี และ ดีไซน์
เสื้อเหย้าปีนี้ยังคงเน้นแนวคิด Modern Tradition นั่นคือการตีความประวัติศาสตร์ให้ดูใหม่ขึ้นเหมือนปีที่แล้ว โดยปีนี้ เจาะจงไปใช้คุณลักษณะ (Character) ของเสื้อเหย้าปี 1984 มากกว่าจะรวมคุณลักษณะต่างๆของหลายๆปีเข้าด้วยกันเหมือนเสื้อเหย้าปีที่แล้ว ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Character ที่แปลว่า คุณลักษณะ แต่ คำว่า Character ยังมีอีกความหมายก็คือ บุคลิก ดังนั้นการออกแบบปีนี้ก็คือ อยากจะถ่ายทอด บุคลิก ของทีมที่ประสบความสำเร็จในปี 1984 ออกมาให้กับทีมนักเตะชุดปัจจุบัน ซึ่งก็คือ Modern Tradition ในมุมนี้ผมถือว่านับว่าเป็นการพัฒนาดีที่ขึ้นในการออกแบบและตีความ
แม้เสื้อเหย้าในปีนี้ยังคงรักษาไว้ซึ่ง สีแดง เฉดเดิมเดียวกับเสื้อปีที่แล้ว ที่เข้มกว่าเสื้อเหย้าในปี 1984 แต่ลายสีแดงเข้มด้านหน้า กับรอยขลิบสีขาวที่คอและแขนเสื้อทำให้รับรู้ถึงแบบในปี 1984 ที่ถูกถ่ายทอดมา ส่วนคอที่เคยเป็นปัญหาในปี 1984 และทำให้ดูอึดอัด ถูกตีความใหม่และทำให้ใส่สบายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Ian Rush

เนื้อผ้า
ผมขอเริ่มจากเนื้อผ้าที่เป็นจุดที่น่าตื่นเต้นในเสื้อปีที่แล้ว เพราะเสื้อเหย้าปีที่แล้วใช้ ใยผ้า S’café ที่รีไซเคิลมาจาก เมล็ดกาแฟ 16% มาผสมกับ Polyester ภายใต้เทคโนโลยี War-tech@fabric ของ Warrior เพื่อเข้าชนกับผ้ารีไซเคิลจาก พลาสติกของ Nike แต่ปีนี้หันกลับมาใช้ polyester 100% ในเทคโนโลยีเดิม War-tech@fabric เท่านั้น
War-tech@fabric คืออะไร?
War-tech@fabric เป็นเทคโนโลยีเนื้อผ้าภายใต้แบรนด์ Warrior ที่มีคุณสมบัติ แห้งเร็วและรักษาระดับความชื้นที่เหมาะสมให้กับผิวผู้ใส่ เพื่อความสบายตัว
แม้โดยส่วนตัวจะรู้สึกเหมือนเด็กที่ขาดความตื่นเต้น  เพราะเราไม่ใช้ใยผ้าที่รีไซเคิลเมล็ดกาแฟแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าจะมาเน้นย้ำความเด่นของเทคโนโลยี War-tech แทน ซึ่งหมายถึง “ความสบายตัว” ของผู้ใส่
เอาจริงต้องขอสารภาพว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะเรื่องของราคาต้นทุน สังเกตจากเสื้อเหย้าปีที่แล้ว แม้จะใช้ ใยผ้า S’café แต่ใช้ไม่เยอะ คาดว่าน่าจะเป็นเนื้อผ้าที่ราคาสูงและให้ความรู้สึกไม่แตกต่างกับ 100% polyester เท่าไหร่นัก อีกทั้งเทคโนโลยี War-tech@fabric ก็ดีพอสำหรับการสร้างความสบายให้กับผู้ใส่
อีกเนื้อผ้าที่เราควรจะรู้จักในเสื้อตัวนี้ก็คือ โฟร์เวย์ สเตร็ช เมช (Four-way stretch mesh) เป็นเนื้อผ้าที่ทอเป็นตาข่ายยืดหยุ่น เพื่อที่จะรองรับการเคลื่อนไหวได้หลากหลาย และยังออกแบบเพื่อให้อากาศผ่านได้ง่ายและระบายอากาศได้ง่ายด้วย เนื้อผ้านี้ warrior ใช้กับชุดเหย้าในปี 2012-2013 ในส่วนใต้วงแขน เนื่องจากส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะเกิดความร้อนสูงมากระหว่างเกมการแข่งขัน
kit_mapคราวนี้เรามาดูการใช้เนื้อผ้าสองอย่างนี้บนเสื้อกันครับ หากแบ่งเสื้อตามชิ้นต่างๆก่อนมาเย็บติดกัน จะได้ชิ้นต่างๆดังนี้
  1. Body (ชั้นในด้านหน้าสีขาวที่สัมผัสตรงกับผู้ใส่) – เนื้อผ้า Polyester 100%
  2. Panel หน้า – ตัวผ้าด้านนอกด้านหน้าเสื่อใช้เนื้อผ้า Polyester 100% บวกกับ การตกแต่งลวดลายเพิ่มเติมบนเนื้อผ้าที่ดูคล้ายไนล่อน (nylon-look) ใส่ลาย สีเข้ม และลายนกไลเวอร์ เพื่อให้ดูเหมือนเสื้อปี 1984
  3. Panel หลัง – ผ้าด้านหลังใช้ Four-way stretch mesh แทนผ้าปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นในเสื้อบอลทั่วไป เพราะโดยปกติเนื้อผ้าประเภทตาข่ายระบายความร้อนนี้ มักจะราคาแพงและไม่แข็งแรงพอที่จะมาอยู่ในตำแหน่งที่พื้นที่สัมผัสเยอะขนาดนี้ แต่ Four-way stretch mesh นี้ดูแข็งแรงพอ และสำหรับผม ส่วนนี้ พอจะสร้างความตื่นเต้นให้กับผม ใกล้เคียงกับการใช้ ใยผ้า S’café ในปีก่อนได้เลยทีเดียว
  4. ใต้วงแขน – ใช้ Four-way stretch mesh เหมือนเดิม
  5. หัวไหล่และแขน – เนื้อผ้า Polyester 100% สีแดงปกติ
ในความเห็นส่วนตัว การเลือกและการจัดการเนื้อผ้าปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะออกแบบเพื่อความสบายของนักเตะมากกว่าเพื่อเอาใจแฟนบอลเช่นปีที่แล้ว
homekit_fabric
ทรงเสื้อ
ทรงเสื้อปีนี้ถือว่าเป็นทรงเสื้อที่ทำร้ายจิตใจคนอ้วนอย่างผมเหลือเกิน  เพราะเป็นทรงที่เข้ารูปมากกว่าปีที่แล้ว และความยืดหยุ่นของผ้าด้านหน้าต่ำมาก ทำให้ผมต้องใส่เสื้อใหญ่ขึ้นอีก 1 เบอร์ ต่างกับปีที่แล้วที่ คนอ้วนอย่างผมใส่ได้สบายๆและดูผอมได้แบบเนียนๆ
การตัดเย็บ
ตะเข็บที่ใช้ในเสื้อเหย้าชุดนี้มีสองประเภท คือ 1. รอยเย็บแบนยื่น (Trimming) 2. ตะเข็บกลมแบนติดเสื้อ (Piping details) ในขณะที่ เสื้อเหย้าปีก่อนมีการใช้เทคนิค  รอยเย็บผสมโพลีเมอร์ยืดเพื่อความยืดหยุ่นที่ทำให้ผมแทบแอบกรี๊ดออกมา ด้วยเพราะไม่เคยเห็นของแบรนด์ไหนทำ แต่หากจะเรียกร้องให้ Warrior ใส่มาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในเสื้อตัวนี้คงจะเป็นอะไรที่เกินไป ก็เขาใส่ 4-way Meshที่แสนยืดหยุนไปทั้งแผ่นหลังแล้ว!
สำหรับการตัดเย็บในปีนี้ ถ้าถามถึงความเนี้ยบถือว่ารักษามาตรฐานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บหรือทำตะเข็บ และที่ดูดีคือ การทำแขนที่ดูเนี้ยบและสวยขึ้นมาก แต่หากมองในแง่เทคโนโลยี ผมถือว่าน่าผิดหวัง สิ่งที่ผมหวังจะเห็นการพัฒนาที่มากขึ้นของ Warrior ก็คือการจัดการกับตะเข็บต่างๆ เพราะถ้าเทียบกับ อดิดาส และ ไนกี้ ถือว่า เทคโนโลยีของ Warrior ยังห่างไกลจากสอง แบรนด์หลักในโลก
ตะเข็บแบบยื่น (Trimming) ที่เป็นปัญหาในปีก่อนก็ยังคงตามมาไม่ว่าจะเป็นด้านข้างลำตัว (ซึ่งอภัยให้ได้ เพราะหลายแบรนด์ ก็ยากที่จะทำตรงจุดนี้ให้เป็น ตะเข็บแบบกลมแบน (Piping) แต่ที่ไม่น่าอภัยให้คือตรงส่วนคอ และแขนที่ทำเป็นตะเข็บแบบยื่น ซึ่งทำให้ผู้ใส่เกิดความรำคาญและระคายเคืองได้ หากเทียบกับเสื้อฟุตบอลแบรนด์อื่น จุดนี้ ถือว่าเป็นจุดที่ปีหน้า Warrior ควรให้ความใส่ใจด้วยเช่นกัน
trimming
สรุป
เสื้อเหย้าปีนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเสื้อปี 1984 เพื่อถ่ายทอด Character มายังทีมปัจจุบันเป็นแนวคิดแบบ Modern Tradition โดยเลือกออกแบบบนสีแดงเฉดเดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งก็คือ เฉดเดียวกับที่ บิล แชงคลีย์ เลือกใช้ใน ฤดูกาล 1964-1965 ซึ่งมีความเชื่อกว่า ไฮ-ริสก์ เรด (High-risk red: แดงแบบความเสี่ยงสูง) นี้จะทำให้นักเตะมีรูปร่างและมีจิตวิญญาณนักสู้สูงกว่านักเตะคู่แข่งและฤดูกาลนี้ ยังเป็นฤดูกาลที่ ทีม สโมสรลิเวอร์พูล คว้า แชมป์เอฟเอคัพ ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย
การตีความและเลือกดึงลายขลิบขาวที่คอและแขนเสื้อของปี 1984 มาใส่ในปีนี้ถือว่าทำได้ดี แม้ส่วนตัวผมจะชอบ cotton-look ของเนื้อผ้าปีที่แล้วมากกว่า แต่ปีนี้เน้น nylon-look และเน้นเพื่อความสบายตัวของผู้ใส่เป็นหลัก โดยรวมถือว่า Warrior ได้ก้าวหน้าขึ้นอีกก้าวใหญ่ๆในฐานะคนผลิตเสื้อแข่งฟุตบอล แต่ช่องว่างระหว่าง warrior กับ อดิดาส และไนกี้ ก็ยังสูงอยู่ แต่ไม่นับว่าสูงมาก โดยเฉพาะหากรวมกับความตั้งใจที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากการออกแบบ ทำให้เชื่อว่า Warrior น่าจะก้าวเข้ามา และตามติด แบรนด์ชั้นนำในวงการนี้ได้ไม่ยากนัก

ซื้อไหม? ผมว่าเสื้อฟุตบอลตัวนี้มีความ “ว้าว” มากพอ แม้อาจจะไม่ดู คลาสสิก และใส่สวยเท่าเสื้อปีที่แล้ว แต่ ก็ไม่แพ้กันเท่าไหร่ แต่หากมองถึงความสบายใจการใส่และแนวทางที่ทำเพื่อนักเตะ ไม่ซื้อก็บ้าแล้ว…ว่าแล้วก็จัดมาแล้วครับ  : )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น